หน้าหลัก > ข้อแนะนำสำหรับผู้ป่วยเบาหวานในการใช้ชีวิตและการรับประทานอาหาร
ข้อแนะนำสำหรับผู้ป่วยเบาหวานในการใช้ชีวิตและการรับประทานอาหาร

เนื่องจากโรคเบาหวานเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนในระยะยาว อาการผิดปกติบางอย่างยังไม่ปรากฏอาการในทันทีทันใด แต่หากมีอาการผิดปกติแล้วอาจจะไม่สามารถรักษาให้กลับมาหายเป็นปกติได้ การควบคุมเบาหวานให้อยู่ในเกณฑ์ และการติดตามอาการของภาวะแทรกซ้อนจึงเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยควรปฏิบัติควบคู่กับการใช้ยาควบคุมเบาหวาน ดังนั้นหลังจากที่ทราบว่าเป็นเบาหวานควรปฏิบัติ ดังนี้

การดูแลตนเองสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

  • ควบคุมอาหารที่รับประทานอาหารอย่างเคร่งครัด โดยมีหลักง่ายๆ ต้องรับประทานอาหารที่ มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ และรับประทานให้ได้วันละ 3 มื้อ รับประทานตรงเวลา ไม่งดมื้อใดมื้อหนึ่ง รับประทานในปริมาณที่ใกล้เคียงกันทุกมื้อทุกวัน ไม่กินจุบจิบ ไม่เป็นเวลา ในแต่ละมื้อ ควรรับประทานอาหารที่มีทั้งแป้ง เนื้อสัตว์ ไขมัน และผักผลไม้ หลีกเลี่ยงการกินน้ำตาล น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง ขนมหาน ผลไม้เชื่อมแช่อิ่ม ผลไม้ที่มีรสหวาน ส่วนอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ ไขมัน สัตว์ เนย มันหมู เนื้อติดมัน เครื่องในสัตว์ หอยนางรม ไข่แดง ครีม กะทิ อาหารทอด
  • ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ หรือถ้าน้ำหนักเกิน ควรลดน้ำหนักตัวลง 5% ของน้ำหนักเดิม
  • ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์ รวมทั้งยาดองเหล้า หรือจำกัดการดื่มแอลกอฮอล์ให้เหลือน้อยที่สุด เพราะแอลกอฮอล์อาจมีผลต่อยาที่ใช้ควบคุมเบาหวานและโรคต่างๆ
  • ออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ เช่น เดินเร็ว ปั่นจักรยาน ให้ได้สัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที
  • ห้ามสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด เพื่อลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด
  • หมั่นดูแลรักษาเท้าให้ดี โดยทำความสะอาดเท้าและดูแลผิวหนังทุกวัน เวลาอาบน้ำควรล้าง และฟอกสบู่ตามซอกนิ้วเท้า ตัดเล็บด้วยความระมัดระวังไม่ให้เกิดเล็บขบ หลีกเลี่ยงการตัด ดึง หรือแกะหนังแข็งๆ หรือตาปลาที่ฝ่าเท้า ถ้ารู้สึกว่าเท้าชา ห้ามวางขวดหรือกระเป๋าน้ำร้อย หรือประคบด้วยของร้อน ถ้ามีบาดแผล ตุ่มหนอง หรือการอักเสบเกิดขึ้นควรรีบไปพบแพทย์ – โรคเบาหวานกับการดูแลเท้า
  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ปีละ 1 ครั้ง และวัคซีนป้องกันปอดอักเสบในผู้ที่อายุ 65 ปีขึ้นไป
  • ควบคุมความดันโลหิต ไม่ให้สูงเกิน 140/90 มม.ปรอท และหากเป็นความดันโลหิตสูงแล้ว ต้องรับประทานยาลดความดันตามแพทย์สั่งห้ามหยุดใช้ยาเอง
  • ควบคุมระดับไขมันในเลือด ให้ระดับไขมันชนิดไม่ดี (LDL) ต่ำกว่า 100 มก./ดล. และควรใช้ยาลดไขมันทุกราย ในผู้ป่วยที่อายุตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป
  • เรียนรู้การปฏิบัติตัวในโอกาสพิเศษต่างๆ เช่น การเดินทาง การไปงานเลี้ยง
  • เรียนรู้เกี่ยวกับภาวะโรคแทรกซ้อนของผู้ป่วยเบาหวาน เพื่อป้องกันหรือชะลอการเกิดโรคแทรกซ้อนเหล่านั้น และจำเป็นต้องตรวจคัดกรองภาวะภาวะแทรกซ้อนและปัจจัยเสี่ยงอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  • พบแพทย์ตามนัดสม่ำเสมอ เพื่อตรวจติดตามน้ำตาลในเลือด ใช้ยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ไม่ควรปรับหรือลดขนาดยาเองตามความรู้สึก ห้ามซื้อยาชุดมารับประทานเอง การใช้สมุนไพรควร พิจารณาร่วมกันกับแพทย์ผู้รักษา

 

จุดมุ่งหมายในการควบคุมอาหาร

  • เพื่อควบคุมระดับน้ำตาล ไขมันในเลือด และความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ หรือใกล้เคียงในระดับปกติมากที่สุด
  • ได้รับสารอาหารและพลังงานเพียงพอแต่ไม่เกินความต้องการของร่างกาย
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
  • ป้องกันหรือชะลอการเกิดโรคแทรกซ้อนของเบาหวาน
  • มีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถประกอบอาชีพในสังคมได้ตามปกติ


 

สามารถแบ่งอาหารได้เป็น 3 ประเภทง่ายๆ คือ

  1. อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง เป็นอาหารที่ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ได้แก่
    • อาหารที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ เช่น เค้ก คุกกี้ ไอศกรีม ขนมหวาน และช็อกโกแลต
    • เครื่องดื่มที่มีน้ำตาล เช่น น้ำหวาน น้ำอัดลม นมเปรี้ยว นมปรุงแต่งรส น้ำผลไม้ เครื่องดื่มชูกำลัง และน้ำเกลือแร่
    • ผลไม้เชื่อม ผลไม้ตากแห้ง น้ำผึ้ง และลูกอม ถ้าต้องการบริโภคอาหารที่มีรสหวาน สามารถใช้น้ำตาลเทียมได้
  2. อาหารที่รับประทานได้แต่ควรกำหนดปริมาณ
    • อาหารประเภทแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง เช่น ข้าว ขนมปัง เผือก มัน ข้าวโพด ก๋วยเตี๋ยว บะหมี่ วุ้นเส้น ขนมจีน และถั่วต่างๆ อาหารกลุ่มนี้เมื่อรับประทานเข้าไป จะถูกย่อยสลายเป็นน้ำตาล และดูดซึมเข้าสู่ร่างกายเพื่อนำไปใช้เป็นพลังงาน แต่ถ้าเกินความต้องการจะทำให้น้ำตาลและไขมันในเลือดสูง และตามมาด้วยโรคอ้วนได้ จึงต้องจำกัดปริมาณ แนะนำให้รับประทาน 6-11 ส่วนต่อวัน แป้ง 1 ส่วน ได้แก่ ข้าวสวย 1 ทัพพี หรือข้าวเหนียว 3 ช้อนโต๊ะ ขนมจีน/ก๋วยเตี๋ยว/วุ้นเส้นครึ่งถ้วยตวง ขนมปังปอนด์ 1 แผ่น บะหมี่ 1 ก้อน มัน/เผือก/ฟักทองครึ่งถ้วยตวง
    • อาหารประเภทโปรตีน ได้แก่ เนื้อสัตว์ต่างๆ ไข่ นม ผลิตภัณฑ์จากนม (เนย ชีส) เต้าหู้ และถั่วเมล็ดแห้ง ร่างกายจำเป็นต้องใช้โปรตีน ในการเจริญเติบโต และซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ แต่ถ้ารับประทานโปรตีนมากเกินไป ไตต้องทำงานหนักเพิ่มมากขึ้นในการขับของเสียจากการย่อยสลายโปรตีน ทำให้ไตทำงานบกพร่องได้ และเนื้อสัตว์หลายชนิดมีไขมัน และมีคอเลสเตอรอลสูง ดังนั้นจึงควรรับประทานเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไม่ติดหนัง และรับประทานโปรตีนวันละ 3-5 ส่วนต่อวัน ได้แก่ เนื้อสัตว์ 2 ช้อนโต๊ะ (เนื้อล้วน) ปลาทูขนาดเล็ก 1 ตัว กุ้งขนาดกลาง 6 ตัว ลูกชิ้น 6 ลูก เต้าหู้แข็งคร่งแผ่น เต้าหูหลอด 3/4 หลอด ไข่ 1 ฟอง ถั่วเมล็ดแห้งสุกครึ่งถ้วยตวง
    • อาหารไขมัน ได้แก่ ไขมันสัตว์ หนังสัตว์ติดมัน น้ำมันพืช เนย มาการีน (เนยเทียม) และกะทิ นอกจากจะให้พลังงานและช่วยในการดูดซึมวิตามินแล้วยังทำให้อาหารมีรสชาติมากขึ้น แต่ถ้ารับประทานมากเกินจะทำให้ไขมันในเลือดสูง นำมาซึ่งโรคอ้วน โรคหัวใจ และหลอดเลือดแดงตีบแข็งได้ แนะนำให้หลีกเลี่ยงไขมันสัตว์ กะทิ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม และใช้น้ำมันพืช ที่มีกรดไขมันอิ่มตัวต่ำทดแทน เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าว น้ำมันข้าวโพด น้ำมันมะกอก และจำกัดปริมาณ 3-5 ส่วนต่อวัน ไขมัน 1 ส่วน ได้แก่ น้ำมัน/เนย/เนยเทียม/มายองเนส 1 ช้องชา กะทิ 1 ช้อนโต๊ะ ถั่วลิสง 10 เมล็ด เม็ดมะม่วงหิมพานต์ 6 เมล็ด
    • ผลไม้ นอกจากจะมีวิตามิน เกลือแร่และกากใยอาหารสูงแล้วยังมีน้ำตาลด้วยจึงต้องจำกัดปริมาณที่รับประทานไม่เกิน 3 ส่วนต่อวัน และเป็นผลไม้สด ไม่เชื่อม หมัก ดอง หรือมีเครื่องจิ้ม กล้วยน้ำว้า/กล้วยไข่ 1 ลูก กล้วยหอม 1/2 ลูก ส้มเขียวหวาน 1 ลูก เงาะ/มังคุด 3 ผล ชมพู่ 2 ผล องุ่น 10 ผล มะม่วง/ฝรั่งครึ่งผล ส้มโอ 3 กลีบ มะละกอสุก 7-8 คำ แอปเปิ้ล/สาลี่ ครึ่งลูก แตงดม 10 คำ สับปะรด 10 คำ
    • นมและผลิตภัณฑ์ ควรดื่มนมจืดพร่องไขมัน ที่ไม่ปรุงแต่งรสวันละ 1-2 แก้ว หรือเป็นแหล่งของโปรตีน และแคลเซียม โยเกิร์ตไม่ปรุงแต่งรสพร่องไขมัน ไม่เกิน 1 ถ้วยตวงต่อวัน
    • แอลกอฮอล์ บางชนิดมีส่วนประกอบของคาร์โบไฮเดรตมาก เช่น เบียร์ ไวน์ เหล้าหวาน อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ถ้าดื่มแอลกอฮอล์ในขณะท้องว่าง อาจทำให้น้ำตาลในเลือกต่ำได้ เนื่องจากแอลกอฮอล์ไปยับยั้งการสร้างกลูโคสจากตับ นอกจากนี้ถ้าดื่มมากเกินจะทำให้ไขมันในเลือดสูง โดยเฉพาะไขมันไตรกลีเซอไรด์
    • เกลือ จะทำให้ความดันโลหิตสูง เพราะเกลือทำให้ร่างกายกักเก็บน้ำไว้มากขึ้น แนะนำรับประทานไม่เกิน 2000 มิลลิกรัม/วัน (เกลือ 1 ช้อนชา, น้ำปลา 4 ช้อนชา) นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีเกลือเป็นส่วนประกอบ เช่น อาหารหมักดอง บะหมี่สำเร็จรูป โจ๊กบรรจุซอง และขนมอบกรอบต่างๆ
  3. อาหารที่รับประทานได้ไม่จำกัด เป็นอาหารที่ให้พลังงานต่ำมีกากใยมาก ได้แก่
    • ผักใบเขียวทุกชนิด
    • เครื่องเทศต่างๆ เช่น กระเทียมพริกไทย
    • ชา กาแฟ ที่ไม่ใส่น้ำตาล น้ำอัดลมที่ไม่มีน้ำตาล (แต่ไม่ควรเกิน 2 แก้วต่อวัน)
    • เครื่องปรุง เช่น มะนาว น้ำส้มสายชู

 

 

#primasukafiberplus #พรีมาซูกะไฟเบอร์พลัส #สารให้ความหวานแทนน้ำตาลพรีมา #หญ้าหวานพรีมา #หญ้าหวานออร์แกนิคพรีมา #หญ้าหวาน #Stevia #พรีมา #prima #primagroup #primacare #primacaregroup #primagroupofficial #สารให้ความหวานแทนน้ำตาล #steviasweetener #หญ้าหวานออร์แกนิค #เบาหวาน #หวานธรรมชาติ #ควบคุมน้ำหนัก #ควบคุมน้ำตาล #ลดความอ้วน #ผู้ป่วยเบาหวาน #สารให้ความหวานผู้ป่วยเบาหวาน

ร้านค้าออนไลน์
© 2006-2024
Vevo Systems Co., Ltd.