หน้าหลัก > ข่าวและประกาศ > ภาวะก่อนเป็นเบาหวาน และ ภาวะดื้อต่ออินซูลิน
ภาวะก่อนเป็นเบาหวาน และ ภาวะดื้อต่ออินซูลิน
ภาวะก่อนเป็นเบาหวาน และ ภาวะดื้อต่ออินซูลิน
19 Apr, 2024 / By primacaregroup
Images/Blog/gFl5O41L-S__4644884.jpg

ความหมายของอินซูลิน

อินซูลิน เป็นฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่สร้างจากตับอ่อน ทำหน้าที่กระตุ้นให้อวัยวะต่างๆ นำพลังงานที่ได้รับจากอาหารไปใช้ กระบวนการจะเริ่มจากเมื่อร่างกายได้รับอาหาร ระบบทางเดินอาหารจะย่อยคาร์โบไฮเดรต ได้แก่ น้ำตาลและแป้งที่อยู่ในอาหารให้เป็นน้ำตาลกลูโคส โดยกลูโคสคือน้ำตาลที่อยู่ในกระแสเลือด และอินซูลินจะทำให้เซลล์ต่างๆ ในร่างกายสามารถนำกลูโคสไปใช้เป็นพลังงานได้

หน้าที่ของอินซูลินในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

เมื่อร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงหลังจากรับประทานอาหาร ตับอ่อนจะหลั่งอินซูลินเข้าสู่เลือด ทำให้น้ำตาลกลูโคสเข้าสู่เซลล์ต่างๆ ทั่วร่างกาย นำไปสร้างพลังงานและช่วยระบบต่างๆ ในร่างกายต่อไปนี้

  • อินซูลินช่วยให้เซลล์กล้ามเนื้อ เซลล์ไขมัน และเซลล์ตับ ดูดซึมน้ำตาลกลูโคสจากเลือดเข้าสู่เซลล์ ทำให้ระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดลดลง
  • อินซูลินจะกระตุ้นตับและกล้ามเนื้อให้เก็บสะสมน้ำตาลกลูโคสส่วนเกินในรูปของไกลโคเจน (glycogen)
  • อินซูลินยังลดระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดด้วยการลดการสร้างกลูโคสจากตับด้วย

ในคนปกติ ด้วยการทำงานต่าง ๆ ข้างต้น จะทำให้มีระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือด และระดับอินซูลินอยู่ในช่วงปกติ

 

เกิดอะไรขึ้นขณะมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน

ขณะที่มีภาวะดื้อต่ออินซูลิน เซลล์กล้ามเนื้อ เซลล์ไขมัน และเซลล์ตับ จะไม่สามารถตอบสนองต่ออินซูลินได้อย่างที่ควรจะเป็น ทำให้เซลล์เหล่านี้ไม่สามารถดูดซึมน้ำตาลกลูโคสในเลือดเข้าสู่เซลล์ได้ง่ายเหมือนปกติ ผลก็คือร่างกายต้องการอินซูลินเพิ่มขึ้น เพื่อให้กลูโคสเข้าสู่เซลล์ได้เหมือนเดิมที่เคยเป็น

เบต้าเซลล์ในตับอ่อนจะตอบสนองต่อความต้องการอินซูลินที่มากขึ้น โดยการผลิตให้มากขึ้นกว่าเดิม ถ้าเบต้าเซลล์ยังสามารถผลิตอินซูลินได้เพียงพอที่จะเอาชนะภาวะดื้อต่ออินซูลินได้ ร่างกายก็จะมีระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดอยู่ในช่วงค่าปกติ

เมื่อเวลาผ่านไป ภาวะดื้อต่ออินซูลินจะทำให้เกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และภาวะก่อนเป็นเบาหวาน เพราะว่าเบต้าเซลล์ในตับอ่อนจะไม่สามารถสร้างอินซูลินได้เพียงพอต่อความต้องการอีกต่อไป เมื่อร่างกายมีปริมาณอินซูลินไม่เพียงพอ จะทำให้น้ำตาลกลูโคสสูงขึ้นในเลือด ทำให้เกิดโรคเบาหวาน, ภาวะก่อนเป็นเบาหวาน และปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงอื่นๆ

สาเหตุของภาวะดื้อต่ออินซูลิน

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลินที่แน่ชัด นักวิทยาศาสตร์คิดว่าสาเหตุหลักของการเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน คือการมีน้ำหนักเกิน และไม่ออกกำลังกาย

น้ำหนักเกิน

ไขมันที่มากเกินไปโดยเฉพาะบริเวณเอวและหน้าท้อง คือสาเหตุหลักของการเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน และยังส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงอื่นๆ ได้ เช่น ความดันโลหิตสูง ระดับไขมันคอเลสเตอรอลผิดปกติ และโรคหัวใจหลอดเลือด ดังนั้นการลดน้ำหนักจะช่วยลดการเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน และป้องกันหรือชะลอการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้

 

การขาดการออกกำลังกาย

การไม่ออกกำลังกายสามารถสัมพันธ์กับภาวะดื้อต่ออินซูลินได้ ซึ่งทำให้เกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ด้วย เพราะโดยปกติแล้วเซลล์กล้ามเนื้อจะใช้น้ำตาลกลูโคสมากกว่าเนื้อเยื่ออื่นๆ ในร่างกาย ในภาวะปกติกล้ามเนื้อจะทำหน้าที่เผาผลาญกลูโคสที่สะสมไว้เพื่อเป็นแหล่งพลังงาน และทำการเก็บสะสมน้ำตาลกลูโคสในเลือดทดแทนไปเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในระดับสมดุล

ภายหลังการออกกำลังกาย กล้ามเนื้อจะมีความไวต่ออินซูลินมากขึ้น โดยการเพิ่มตัวนำน้ำตาลกลูโคสเข้าไปใช้ในเซลล์ ทำให้ต่อสู้กับภาวะดื้อต่ออินซูลินได้ และทำให้น้ำตาลกลูโคสในเลือดลดต่ำลง ดังนั้นการออกกำลังกายจะทำให้กล้ามเนื้อดูดซึมน้ำตาลกลูโคสได้มากขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องได้รับอินซูลิน และเมื่อมีเซลล์กล้ามเนื้อมาก ก็จะช่วยเพิ่มการเผาผลาญน้ำตาลกลูโคส เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้

สาเหตุอื่นๆ

สาเหตุอื่นๆ ของการเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ได้แก่

  • เชื้อชาติ
  • โรคร่วมบางชนิด
  • ฮอร์โมน
  • การใช้สเตอรอยด์
  • ยาบางชนิด
  • อายุมาก
  • ปัญหาการนอนหลับ โดยเฉพาะภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ
  • การสูบบุหรี่
  •  

ปัญหาระหว่างการนอนหลับส่งผลต่อภาวะดื้อต่ออินซูลินด้วยหรือไม่

คำตอบคือ ใช่ มีการศึกษาพบว่าปัญหาที่พบระหว่างการนอนหลับที่ไม่ได้รับการรักษา โดยเฉพาะภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ จะเพิ่มความเสี่ยงของโรคอ้วน ภาวะดื้อต่ออินซูลิน และโรคเบาหวานชนิดที่ 2 คนที่ทำงานกลางคืนมีโอกาสที่จะมีปัญหาเหล่านี้มากกว่าปกติ

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับเป็นโรคที่พบในผู้ป่วยที่มีปัญหาการหายใจถูกขัดขวางขณะนอนหลับ ทำให้คุณภาพการนอนหลับอยู่ในระดับต่ำ ผู้ป่วยจะมีอาการง่วงนอนระหว่างวัน หรืออ่อนเพลียมากกว่าปกติ

คนจำนวนมากไม่ได้กังวลถึงภาวะนี้และไม่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ แนะนำว่าหากสงสัยว่าคุณมีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา

 

ภาวะก่อนเป็นเบาหวานคืออะไร

ภาวะก่อนเป็นเบาหวาน คือภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือด หรือระดับน้ำตาลสะสม (A1C) สูงกว่าปกติ แต่ไม่สูงพอที่จะวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน

คนที่เป็นภาวะก่อนเป็นเบาหวานจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการพัฒนาเป็นโรคเบาหวาน และโรคหลอดเลือดหัวใจในอนาคต ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคหัวใจล้มเหลวหรือโรคหลอดเลือดสมองได้

ภาวะดื้อต่ออินซูลินสัมพันธ์กับเบาหวานชนิดที่ 2 และภาวะก่อนเป็นเบาหวาน อย่างไร

ภาวะดื้อต่ออินซูลินเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และภาวะก่อนเป็นเบาหวาน โดยภาวะก่อนเป็นเบาหวานมักพบในผู้ที่มีภาวะดื้อต่ออินซูลินอยู่แล้ว

 

อย่างไรก็ตามการเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลินเพียงอย่างเดียวจะไม่ทำให้เกิดเบาหวานชนิดที่ 2 ภาวะนี้จะมีการตอบสนองโดยมีการสร้างอินซูลินเพิ่มขึ้นจากเบต้าเซลล์ในตับอ่อน แต่เพราะในภาวะก่อนเป็นเบาหวาน เบต้าเซลล์จะไม่สามารถสร้างอินซูลินที่เพียงพอในการต่อสู้กับภาวะดื้อต่ออินซูลินได้อีก ทำให้ระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดสูงขึ้นกว่าค่าปกติ

 

เมื่อร่างกายมีภาวะก่อนเป็นเบาหวานร่วมกับการทำหน้าที่ของเบต้าเซลล์ที่ลดลงเรื่อยๆ จะทำให้เกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ผู้ป่วยที่มีภาวะเบาหวานชนิดที่ 2 จะมีระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดสูงกว่าปกติ ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไประดับน้ำตาลที่สูงนี้จะไปทำลายเส้นประสาท และเส้นเลือด ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมา เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ตามองภาพไม่ชัด ตาบอด ไตวาย และอาจร้ายแรงถึงขั้นตัดขา

 

ส่วนใหญ่คนที่เป็นภาวะก่อนเป็นเบาหวาน จะมีการพัฒนาเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ภายในระยะเวลา 10 ปี ยกเว้นว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิต การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ได้แก่

  • การลดน้ำหนัก 5-7% ของน้ำหนักเริ่มต้น
  • การเปลี่ยนอาหารที่รับประทาน
  • การออกกำลังกาย

อาการของภาวะดื้อต่ออินซูลิน และภาวะก่อนเป็นเบาหวาน

ภาวะดื้อต่ออินซูลินและภาวะก่อนเป็นเบาหวานมักจะไม่มีอาการ ซึ่งอาจเป็นเพียง 1 ภาวะ หรือทั้ง 2 ภาวะร่วมกันโดยไม่มีอาการหลายๆ ปีเลยก็ได้ แม้ว่าจะไม่มีอาการ แต่แพทย์สามารถบอกได้ว่าคนๆ นั้นเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูงได้ โดยการหาปัจจัยเสี่ยงที่คนๆ นั้นมี

คนที่มีอาการของภาวะดื้อต่ออินซูลินที่รุนแรงอาจมีผิวหนังลักษณะหนา สีดำคล้ำ โดยมักจะเจอที่ด้านหลังของลำคอ โดยผิวหนังสีดำคล้ำนี้จะปรากฏที่อื่นได้ด้วย ได้แก่ ข้อศอก เข่า ข้อนิ้วมือ รักแร้ ซึ่งเรียกภาวะนี้ว่า “acanthosis nigricans”

 

CR : hdmall
#พรีมา #prima #primagroup #primacaregroup #primasukafiberplus #สารให้ความหวานแทนน้ำตาล #หญ้าหวาน #stevia #primavitallifeprobiotic #โปรไบโอติค #โพรไบโอติค #Probiotic #primacoffeemasterpiece #primacoffeevitallife #ดูแลสุขภาพ #โรคเบาหวาน #การดูแลตัวเอง #สุขภาพดี #น้ำตาล

Like
ความคิดเห็น (0)
ก่อนหน้า 1 ถัดไป
ร้านค้าออนไลน์
© 2006-2024
Vevo Systems Co., Ltd.